"โอ้ยยลูกกก... อ้วนจ้ำม่ำ น่ารักจังเลย" หลาย ๆ คน คงเคยได้ยิน หรือคุ้นเคยกับประโยคพวกนี้อยู่บ่อย ๆ ใช่ไหมคะ เชื่อว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเจ้าของน้องหมาน้องแมว ค่อนข้างที่จะชอบให้สัตว์เลี้ยงของตนเองนั้นมีรูปร่างอ้วน
มีการศึกษาวิจัยจากประเทศอเมริกา ยืนยันว่าจำนวนสุนัขและแมวที่จัดอยู่ในกลุ่มอ้วนในประเทศอเมริกาตอนนี้พุ่งกระฉูดขึ้นไปถึง 63 % แล้ว โอ้มายก้อด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วยนะคะ
เจ้าของบางคนอาจคิดว่า... ที่สัตว์เลี้ยงของฉันอ้วนก็แสดงว่าฉันเลี้ยงดีไง... ฉันให้แต่อาหารของคนดี ๆ ทั้งนั้นนะ... อยากให้สัตว์เลี้ยงอ้วน ๆ จะได้น่ารัก ๆ แต่รู้ไหมคะว่าจริง ๆ แล้ว ความเชื่อหรือความเข้าใจเหล่านี้นั้นผิดมหันต์ เลยนะคะ ภายใต้ความน่ารักน่ากอดนั้นมีแต่ผลเสียที่จะตามมามากมายดังที่เราจะเล่าต่อไปนี้
1. คุณภาพชีวิตแย่ลง
สัตว์เลี้ยงทุกชนิดก็เหมือนมนุษย์เรา ๆ ที่มีปริมาณพลังงาน และสารอาหารที่ต้องการในแต่ละวัน หากได้รับมากกว่าปริมาณที่กำหนด ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านี้อ้วนได้นะคะ
ภาพน้องหมาได้รับอาหารปริมาณมากเกินความต้องการ และมีหุ่นที่ค่อนข้างอ้วนแล้วเจ้าความอ้วนเนี่ยก็เหมือนแม่เหล็กที่จะดึงดูดโรค และผลเสียต่าง ๆ เข้ามาหาสัตว์เลี้ยงของเรา แน่นอนว่า คุณภาพชีวิตของน้องเค้าก็จะแย่ลง ก็เหมือนคนอ้วนที่จะเดินจะเหินก็ลำบาก ไม่คล่องตัว ขี้เกียจไปหมดทุกสิ่งอย่าง ไม่เล่นไม่ซุกซนเหมือนเดิม และยังมีงานวิจัยที่ยืนยันอีกด้วยนะคะ ว่าอายุของน้องหมาที่มีรูปร่างอ้วนจะสั้นกว่าน้องหมาที่มีรูปร่างปกติในพันธุ์เดียวกัน และโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ ดังนั้นการวางแผนลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหารให้สัตว์เลี้ยงของเรา ถือเป็นสิ่งที่เจ้าของต้องให้ความสำคัญมาก ๆ เลยนะคะ
2. โรคกระดูกและข้ออักเสบ
หากจะให้พูดถึงโรคที่พบบ่อยที่สุดในน้องหมา คงจะหนีไม่พ้นโรคกระดูกและข้ออักเสบ
ภาพแสดงระยะต่าง ๆ จากเริ่มไปท้ายของโรคกระดูกและข้ออักเสบที่พบในสุนัขเวลาที่น้องหมาอ้วนเจ้าของอาจสังเกตเห็น ว่าลักษณะการเดินของน้องอาจผิดไปจากเดิม อาจเดินกะเผลก ไม่ยอมลงน้ำหนักที่ขา เพราะว่าเมื่อน้องอ้วน ขาก็ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ น้องจะเริ่มรู้สึกเจ็บปวดที่ขาและข้อมากขึ้น หากรุนแรงมาก ๆ น้องอาจจะไม่ใช้ขาไปเลยก็ได้นะคะ จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้อีก เช่น ไม่อยากวิ่งเล่น หรือออกกำลังกายตามปกติ ไม่ยอมเดินไปกินข้าว หรืออาจลุกลามไปเป็นมะเร็งเลยก็ได้
นอกจากนี้รู้ไหมคะว่า... ความอ้วนนั้นจะเพิ่มการหลั่งของสารสื่ออักเสบ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกและข้ออีกด้วย ซึ่งยารักษาที่ดีที่สุดก็คือ การลดน้ำหนัก นั่นเองค่ะ เพียง 6% - 8% ของน้ำหนักที่ลดลงไป ก็สามารถทำให้การเดินกะเผลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด และก็ยังลดโอกาสการเกิดโรคกระดูกและข้ออักเสบได้อีกด้วยค่ะ
3. โรคหมอนรองกระดูกอักเสบ
อีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยไม่แพ้กันก็คือ โรคหมอนรองกระดูก ก่อนอื่นหมอจะขออธิบายคร่าว ๆให้คุณเจ้าของเข้าใจก่อนนะคะ ว่าหมอนรองกระดูก คือส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง คอยรองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเวลาที่ร่างกายเคลื่อนไหว หากเจ้าหมอนรองกระดูกนี้เกิดการเคลื่อนออกมาจากตำแหน่งปกติ จะทำให้น้องหมาเจ็บปวด และเป็นอัมพาตได้ ซึ่งอายุและสายพันธุ์ไม่มีผลกับการเกิดโรค แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความอ้วน นั่นเองค่ะ น้ำหนักที่มากเกินจะเหนี่ยวนำให้เกิดการสะสมของธาตุแคลเซียมที่หมอนรองกระดูก และเพิ่มความเสี่ยงในการประทุ หรือการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกได้
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าใน น้องหมารูปร่างอ้วนที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาหมอนรองกระดูก การฟื้นตัวจะช้ากว่าน้องหมาที่รูปร่างปกติถึง 7.62 เท่า โห! นานกว่าเยอะเลยนะคะ
4. โรคทางระบบหัวใจ และระบบหายใจ
สองโรคที่กล่าวไปจะเห็นว่าเป็นโรคเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายทั้งคู่เลยใช่ไหมคะ แต่ความอ้วนไม่ได้ส่งผลเสียให้กับร่างกายน้องหมาเพียงแค่ระบบโครงร่างเท่านั้นนะคะ ระบบหัวใจ ระบบหายใจ และระบบต่อมไร้ท่อ ก็เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เรามาเริ่มกันที่ระบบหัวใจ และระบบหายใจก่อน สองระบบนี้ดูเหมือนว่าจะทำงานกันคนละหน้าที่ แต่จริง ๆ แล้วสอง ระบบนี้นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น คอยช่วยเหลือกันอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เสมอ เพราะตำแหน่งของหัวใจ ปอด และหลอดลมจะติดกัน หากมีความผิดปกติของหัวใจ ก็จะส่งผลกับปอดและหลอดลมด้วยค่ะ หากน้องหมาของเราอ้วนสังเกตได้ว่าจะเหนื่อยง่าย วิ่งหรือเดินไม่กี่ก้าวก็หายใจหอบแฮ่ก ๆ แล้ว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะปอด และหัวใจของน้องเขาต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อน้องอ้วน ซึ่ง การลดน้ำหนัก ถือเป็นวิธีการหลัก ๆ เลยนะคะ ที่เราใช้รักษาความผิดปกติเหล่านี้
5. โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญทีมักจะแสดงอาการค่อนข้างช้า ก็คือ ปัญหาของระบบต่อมไร้ท่อ เนื่องจากการทำงานของต่อมไร้ท่อจะทำงานผ่านสื่อนำที่เราเรียกว่า ฮอร์โมนนั่นเอง เจ้าฮอร์โมนนี้จะทำหน้าที่เหมือนเป็นบุรุษไปรษณีย์คอยรับส่งข่าวสารให้กับเจ้านายก็คือต่อมไร้ท่อ ซึ่งการรับส่งนี้ต้องใช้เวลา
เมื่อน้องหมาอ้วนจะทำให้สารสื่ออักเสบเพิ่มขึ้น และยังพบว่าระดับคอเรสเทอรอล ไขมันในเลือด อินซูลิน เอนไซม์การย่อยต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย ที่เกิดเช่นนี้เพราะ ต่อมไร้ท่อมีความผิดปกติ ทำให้การหลั่งฮอร์โมนเพื่อสั่งการต่าง ๆ ก็จะเสียตามไปด้วย ระบบจะรวนไปหมดเลยค่ะ และจะเกิดโรคต่างๆตามมาได้ เช่น การเกิดโรคเบาหวานจากตับอ่อนอักเสบ เนื่องจากตับอ่อนเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่คอยลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อตับอ่อนอักเสบก็ไม่มีตัวที่คอยลดน้ำตาลในเลือดนำไปสู่การเกิดเบาหวานตามมานั่นเอง หรืออาจเกิดจากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก็เป็นได้ ดังนั้นการตรวจเช็คระดับฮอร์โมนเป็นประจำจะช่วยลดโอกาสการเกิดความผิดปกติ เหล่านี้ได้เช่นกันนะคะ
ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงของเรานั้นจะเป็นอะไร
การที่เราเลี้ยงเขาจนอ้วนเกินไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี
เพราะ ความอ้วน เปรียบเสมือนแม่เหล็กคอยดึงดูดโรคอื่น ๆ ให้เกิดตามมาได้
โดยส่วนมากอาการจะเป็นลักษณะสะสมมาเรื่อย ๆ ไม่ได้เกิด ทันที ทันใด ซึ่งหากเจ้าของไม่ได้สังเกตสัตว์เลี้ยงดี ๆ ก็อาจจะรู้เมื่อสายไป อาการของน้องจะรุนแรงแล้วก็ได้
ดังนั้นหัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การรักษา แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่แรกค่ะ พูดแล้วดูง่ายจริงไหมคะ แต่การลงมือทำนั้นต้องอาศัยความรัก และความเอาใจใส่ของเจ้าของอย่างมาก การควบคุมปริมาณอาหาร และน้ำให้เหมาะสม
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการเกิดโรคอ้วน
รวมไปถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา การที่เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนอกจากจะให้ความรักแล้ว
ก็ควรให้สุขภาพที่ดีแก่พวกเขาด้วยนะคะ
ที่มา
Top 5 Clinical Consequences of Obesity
By Deborah Linder, DVM, DACVN
,Clinician brief page 19 – 20
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)
"ทุกความคิดเห็นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์
และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้ทุกกรณี"
"ทีมงานขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นโดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความเห็น"