6 สัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องหมาออกกำลังกายไม่เพียงพอ

1 ธ.ค. 2560 29632
6 สัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องหมาออกกำลังกายไม่เพียงพอ                          

               น้องหมาควรได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอเช่นเดียวกับคน ซึ่งถ้าเจ้าสี่ขาออกกกำลังกายไม่เพียงพอก็มักจะแสดงพฤติกรรมต่าง เช่น เบื่อ หรือมีน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ หรือปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบที่ไม่พึงประสงค์ เช่นทำลายข้าวของในบ้าน เป็นต้น ดูกันง่ายๆ เลยค่ะสำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ถ้าวันไหนไม่ได้ออกกำลังกาย คนเหล่านั้นก็มักจะมีอาการหงุดหงิด หรืออยากทำลายข้าวของกันเลยที่เดียว

              เพื่อน ๆต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะค่ะ ว่าน้องหมาแต่ละตัวมีความต้องการในการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน ขึ้นกับอายุ, สายพันธุ์, ขนาด และสุขภาพ ดังที่ ด็อกเตอร์ Deborah Linder ( head of Tufts Obesity Clinic for Animals in Medford, Massachusetts) ได้กล่าวไว้ว่า “สุนัขวัยเด็กมักต้องการออกกำลังกายมากกว่าสุนัขที่มีอายุมาก” นั่นเอง

วันนี้ทาง OSDCO community จะมาพูดถึง 6 สัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องหมาออกกำลังกายไม่เพียงพอ พร้อมกับเคล็ดลับที่จะช่วยให้น้องหมาได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอ และปลอดภัยจากอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการที่น้องหมาออกกำลังกายหักโหมกันค่ะ

1. น้ำหนักตัวน้องหมาเพิ่มมากขึ้น

              การที่น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกได้ว่าน้องของคุณไม่ได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอ แต่ต้องแน่ใจด้วยนะว่าคุณไม่ได้ให้อาหารน้องหมา มากจนเกินไป

              ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวของกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้แก่ กายออกกำลังกาย และพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน  จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เจ้าของควรใส่ใจ ทั้งด้านการออกกำลังกาย และการควบคุมอาหาร ทางที่ดีที่สุดควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในด้านการจัดการอาหาร และการออกกำลังกายเพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกันนะคะ


2. พฤติกรรมชอบทำลายข้าวของ

               ด็อกเตอร์ ลินเดอร์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tufts ได้กล่าวไว้ว่า หากสุนัขเริ่มทำลายสิ่งของภายในบ้าน หรือแสดงออกถึงพฤติกรรมที่รุนแรง อาจเป็นไปได้ว่า สุนัขเหล่านั้นต้องการการออกกำลังกาย แต่สุนัขไม่สามารถพูดหรือบอกกับเราได้ จึงแสดงออกในทางพฤติกรรม เหมือนเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้น้องหมาปลดปล่อยพลังงานที่มีออกมาได้นั่นเองค่ะ ซึ่งกิจกรรมที่จะช่วยให้น้องหมาปลดปล่อยพลังงานออกมาโดยไม่ทำลายข้าวของในบ้านนั้น ได้แก่ การเดิน, การวิ่ง และการว่ายน้ำ เป็นต้น

พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่จะช่วยบอกได้ว่าน้องหมาของเราออกกำลังกายไม่เพียงพอ ก็ได้แก่ พฤติกรรมกัดรองเท้าหรือข้าวของภายในบ้าน, คุ้ยขยะ, ทำลายเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน หรือก้าวร้าวต่อสัตว์เลี้ยงตัวอื่น หรือแม้แต่ตัวเจ้าของเอง โดยการแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้ก็ง่าย แสนง่าย เพียงแค่เพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายให้แก่น้องหมา ก็จะช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวได้แล้วค่ะ

               แต่พึงระลึกไว้เสมอนะคะว่าสาเหตุของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ไม่ได้มาจากการที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอเพียงอย่างเดียว ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการที่น้องหมาวิตกกังวล หรือหวาดกลัว หรืออาจถูกตำหนิ ทางที่ดีควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนนะคะ

3. มีพฤติกรรมสมาธิสั้น, ตื่นเต้นผิดปกติ (Hyperactivity)

               ในกรณีที่น้องหมาไม่ได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอ อาจแสดงอาการตื่นเต้นจนไม่สามารถที่จะควบคุมได้เมื่อพาน้องหมาเหล่านั้นออกไปข้างนอก รวมไปถึงการที่น้องมาดึงสายจูงอาจบ่งบอกได้ว่าน้องหมาต้องการเผาผลาญพลังงานเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง


4. น้องหมาเริ่มเก็บเนื้อเก็บตัว

               เมื่อไม่ได้รับการออกกำลังกายเพียงพอ  น้องหมาบางตัวจะเก็บเนื้อเก็บตัว และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของ โดยพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ คือ “นอนตามมุมห้อง ขดตัว และนอนเหมือนเดิม”

               หากสุนัขไม่แสดงท่าทีสนใจ หรือดีใจเมื่อคุณเข้ามาในห้อง อาจเป็นไปได้ว่าน้องหมาอาจจะซึมเศร้า ซึ่งสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้น้องหมาเก็บตัวนั้นอาจจะเกิดจากการที่น้องหมาวิตกกังวล หรือมีการเจ็บปวด หรือในกรณีที่น้องหมามีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน น้องหมามักจะอ้วนและแสดงอาการไม่สนใจสิ่งรอบ ทางที่ดีหากน้องหมาแสดงอาการดังกล่าวควรพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาต่อไปนะคะ

5. น้องหมาแสดงอาการเจ็บขา

               น้องหมาที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน หรือไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ น้องหมาอาจมีภาวะที่กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงต่ำ จนทำให้เคลื่อนไหวลำบากและมีอาการเจ็บขา ทำให้เมื่อต้องออกกำลังกายน้องหมามักแสดงอาการในลักษณะที่ไม่ยอมเคลื่อนไหว, ขัดขืนเมื่อต้องเดินขึ้นหรือลงบันได หรือไม่ยอมนอน หากน้องหมาแสดงอาการเหล่านี้เป็นประจำ เราควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อทำการหาสาเหตุ และวางแผนการเพิ่มการออกกำลังกายให้แก่เจ้าสี่ขา นอกจากนี้ในกรณีที่น้องหมามีปัญหาสุขภาพควรได้รับการรักษาก่อนที่จะเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายนะคะ

6. น้องหมาชอบเห่าและหอน

               น้องหมาบางตัวมักจะส่งเสียงเห่าและหอน ในกรณีที่เจ้าของไม่ค่อยพาออกไปวิ่งเล่น ซึ่งการส่งเสียงร้องของพวกมันถือเป็นการเรียกร้องความสนใจอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าน้องหมาแสดงอาการวิ่งเป็นวงกลม, คาบสายจูง หรือวิ่งไปแถวประตูบ่อย ๆ  มีความเป็นไปได้สูงที่น้องหมาต้องการที่จะออกไปเล่นข้างนอกบ้านคะ



เพิ่มกิจกรรมในแต่ละวันให้น้องทำได้ง่าย ๆ

                หัวใจสำคัญที่จะทำให้น้องหมาสามารถออกกำลังกายได้อย่างเพียงพอ คือ ทำอย่างช้า ๆ, ทำอย่างง่าย ๆ เพียงแค่เราค่อย ๆเพิ่มกิจกรรมจากง่ายไปยาก และคอยสังเกตว่าน้องหมาสามารถทำได้แค่ไหน อีกทั้งให้เราหมั่นสังเกตอาการบาดเจ็บภายหลังจากการทำกิจกรรมทุกครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากการที่เราเพิ่มกิจกรรมให้เจ้าสี่ขาได้

โดยในสุนัขที่สุขภาพดี ให้เริ่มจากการพาน้องหมาเดิน 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 5 นาที หลังจากนั้นให้ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาจนกระทั่งน้องหมาสามารถเดินโดยใช้เวลา 30 – 45 นาทีต่อวัน แต่ต้องระวังเรื่องอุณหภูมิที่สูงด้วยนะ เพราะน้องหมาแต่ละตัวมีความสามารถในการทนต่อความร้อนต่างกัน โดยเฉพาะน้องหมาหน้าสั้นและน้องหมาที่อ้วน ต้องระวังเป็นพิเศษเลยล่ะค่ะ

               
               เนื่องจากน้องหมาหน้าสั้นอย่างน้องหมาพันธุ์บลูด็อกซ์ และปั๊ก มักมีปัญหาเรื่องระบบหายใจ ทำให้ไม่สามารถหายใจอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับสุนัขหน้ายาว อีกทั้งน้องหมาพันธุ์ดังกล่าวไม่สามารถที่จะทนความร้อนได้ดี จึงควรระมัดระวังในการเพิ่มกิจกรรมให้แก่น้องหมาเหล่านี้ โดยพาเดินเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และเพิ่มช่วงเวลาพักให้นานขึ้นด้วยนะ

ส่วนในกรณีของน้องหมาที่มีภาวะโรคหัวใจ หรือมีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อต่อ ควรพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการกายภาพและฟื้นฟูความคล่องตัวให้แก่น้องหมาของคุณเสียก่อน เพราะการเพิ่มการออกกำลังจะเป็นการซ้ำให้อาการต่าง ๆ จากโรคที่น้องหมาเป็นอยู่ยิ่งแย่ลงได้นะคะ


               หากเราเข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของน้องหมาเป็นอย่างดี จะช่วยให้น้องหมาของเราได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอและเหมาะสมกับพฤติกรรมของน้องหมาได้ค่ะ หมั่นสังเกตพฤติกรรมของน้องหมากันนะคะ

ทีมงานสัตวแพทย์จาก OSDCO Community



ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)
Top