เนื่องจากแมวไม่ใช่สุนัขตัวเล็ก
อาการแสดงที่เกิดขึ้นกับโรคบางโรคในแมวและในสุนัขจีงแตกต่างกัน รวมถึงโรคหัวใจ โดยมากแมวที่เป็นโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการป่วยให้เจ้าของเห็น เว้นเสียแต่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น โดยมากแมวอาจเป็นโรคหัวใจอยู่เป็นเวลานานโดยไม่แสดงอาการป่วย แต่อาจจะแสดงภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นเมื่อมีความเครียดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น หรือ การไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
โรคหัวใจในแมวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เกิดขึ้นภายหลังกำเนิดและกลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด
แมวที่เป็นโรคภายหลังกำเนิดส่วนมากจะแสดงอาการเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วงอายุประมาณ 9-10 ปี อย่างไรก็ตามแมวพันธุ์แท้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ อาจแสดงอาการป่วยได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจที่เป็นมากำเนิด โดยมากหากมีความผิดปกติที่รุนแรงมักแสดงอาการตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี
แมวที่เข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวมักแสดงอาการหายใจลำบากโดยสามารถสังเกตได้จากการยุบเข้าออกของช่องอกหรือท้องที่มีความแรงมากกว่าปกติ อาจเรียกลักษณะดังกล่าวว่าการหายใจด้วยท้อง แมวอาจหายใจเร็วขึ้นโดยอาจมีอัตราการหายใจมากกว่า 30 ครั้ง/นาที ในระยะพัก ในแมวที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอาจไม่แสดงอาการไอซึ่งแตกต่างจากในสุนัข อาการไอในแมวมักเกิดจากปัญหาระบบทางเดินหายใจมากกว่า แมวที่ติดพยาธิหนอนหัวใจก็อาจมีอาการไอได้ เนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจจะทำให้เกิดการอักเสบที่ปอด แมวบางตัวอาจแสดงอาการกระวนกระวาย หรืออาจซึมกว่าปกติ หลบซ่อนตัว หรือมีอาการเป็นลมหมดสติ รวมทั้งอาจมีอาการเบื่ออาหาร ไม่มีแรง
หายใจด้วยท้อง ปอดอักเสบ เบื่ออาหาร
อาการสำคัญอีกอย่างที่อาจเจอได้คือการเกิดอัมพาต 2 ขาหลังแบบเฉียบพลัน เกิดจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งโดยมากเจ้าของมักเข้าใจผิดว่าการเกิดอัมพาตที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการได้รับการบาดเจ็บทำให้ใช้ 2 ขาหลังไม่ได้ ลักษณะที่สำคัญที่พบในกรณีที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้แก่ ปลายเท้าเย็น ในช่วงแรกแมวอาจมีการเจ็บปวดเมื่อคลำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจหมดความรู้สึกไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นความเจ็บปวด นอกจากนั้นอาจพบลักษณะอุ้งเท้ามีสีม่วงคล้ำ และกล้ามเนื้อบวมแข็ง ในแมวอาจพบลักษณะท้องมาน ข่องท้องกางขยายใหญ่ เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน แต่โอกาสพบจะน้อยกว่าในสุนัข ส่วนมากภาวะท้องมานในแมวมักเกิดจากการติดเชื้อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์โดยด่วน เนื่องจากเป็นโรคติดต่อสามารถติดสู่แมวตัวอื่นๆที่อยู่ภายในบ้านได้
เมื่อพบอาการดังกล่าวข้างต้น ควรนำแมวของท่านเข้าพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป โดยวิธีการวินิจฉัย ได้แก่ การถ่ายภาพรังสี หรือ x-rays การตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ echocardiography และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ electrocardiography โดยสัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยชนิดโรคหัวใจและทำการวางแผนการรักษา เพื่อควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้นต่อไป
นอกจากโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างภายในหัวใจแล้ว ในแมวยังมีความผิดปกติอื่นๆที่สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจในภายหลังได้ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง และ ภาวะฮอร์โมนธัยรอยด์สูงกว่าปกติ เป็นต้น ทั้งสองภาวะมักพบในแมวที่มีอายุมาก ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพแมวเป็นประจำทุกปี ทำให้สัตวแพทย์สามารถพบความผิดปกติตั้งแต่ช่วงแรก เพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง และช่วยให้แมวมีชีวิตยืนยาวขึ้น อยู่เป็นเพื่อนเราได้อีกนาน
ขอบคุณรูปภาพจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร. สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)
"ทุกความคิดเห็นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์
และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้ทุกกรณี"
"ทีมงานขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นโดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความเห็น"